จัดตั้งหรือสนับสนุนสถาบันการหาความรู้ทางโบราณคดี เกษตรกรรม วัฒนธรรมและศิลปกรรมของไทย

 การสนับสนุนการอนุรักษ์เรือนไทยลื้อ


          มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ สนับสนุนการอนุรักษ์เรือนโบราณไทลื้ออยู่ในกลุ่มเรือนโบราณของชนเผ่าทางเหนือเพื่อให้ชาวเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้เป็นแหล่งความรู้เพื่อการเรียนการสอน และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมล้านนา และชาติพันธุ์วิทยาสืบไป

          สันนิษฐานว่า ชาวไทยลื้อแถบแคว้นสิบสองปันนาจำนวนหนึ่ง ตามเสด็จพระเจ้าแสนเมืองมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 1932 และได้มีการสืบทอดการสร้างบ้านไทลื้อ แบบดั้งเดิมซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือนไทยโบราณทางภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า บ้านแบบคนเมือง คือนิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูงประมาณ 2 เมตร สำหรับเป็นที่เลี้ยงวัวควาย และเวลากลางวันใช้เป็นที่นั่ง ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ปั่นฝ้าย ทอผ้า จักสาน หลังคาบ้านทรงสูงมุงด้วยกระเบื้องดินเผาชนิดไม่เคลือบเพื่อให้อาศาศถ่ายเท บ้านมีเสามาก มักนิยมปลูกเรือนตามตะวัน ปลูกเป็นเรือนยาว คือ มีตัวเรือนใหญ่ ชาน ยุ้งข้าวใช้เก็บข้าวไว้กินตลอดปี และร้านน้ำ ตัวเรือนใหญ่แบ่งเป็น 2 ตอนตามยาว ตอนนอกที่ติดกับชานแบ่งเป็นระเบียงครัวไฟใช้หุงอาหารและใช้ก่อไฟสำหรับให้ความอบอุ่น อีกตอนหนึ่งเป็นที่พักหลับนอน และประกอบอาหารในห้องนอน ซึ่งทำให้อบอุ่นและสะดวก ที่พักของแขกมีฝากั้นแบ่งเป็นสัดส่วน ที่นอนรวมมีไม้วางตามยาวของตัวเรือนตามแนวห้องเรียกว่า ปลิ้ง หรือ ปลิง หน้าประตูมีร้านน้ำซึ่งมีหม้อน้ำและกระบวยตักน้ำดื่มสำหรับผู้เดินทาง และแขกที่ไปเยี่ยมบ้าน

          ฝาเรือนของไทลื้อเป็นฝาชนิดเอียงออกเหมือนเรือนของเชียงใหม่ซึ่งใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำชั้นวางของและเป็นไม้ค้ำยันหลังคา โดยใช้ไม้เคร่าฝาตั้งจากพื้นขึ้นไปยังแปและมีเต้ายึดจากเสาอีกชั้นหนึ่ง บ้านไทลื้อไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากทางเหนือมีอากาศหนาวเย็นและเป็นลักษณะดั้งเดิมอยู่ แต่เจาะช่องไว้ที่ด้านสกัดเพียงช่องเดียว

          บ้านของผู้ที่มีฐานะดีสังเกตได้จากเสาซึ่งมีเป็นจำนวนร้อยต้น บริเวณรอบบ้านมักจะประกอบด้วยต้นไม้นานาชนิดทั้งประเภทยืนต้นและล้มลุก เช่น มะม่วง มะพร้าว หมาก พลู ชาวลื้อไม่นิยมสร้างรั้วรอบขอบชิดเพื่อแยกบ้านของตนออกจากเพื่อนบ้าน มีที่สังเกตเขตของบริเวณบ้านจากแนวต้นไม้ ทำให้สะดวก

          สำหรับเรือนโบราณไทลื้อที่ได้รับการอนุรักษ์นี้ เป็นเรือนไทยโบราณของชาวไทลื้อสามัญชนที่เป็นชาวนาฐานะดี มิได้มีลวดลลายวิจิตรดังเช่นเรือนของขุนนางหรือคหบดี เจ้าของชื่อพ่อน้อยหลวงและตุด ไบสุขันธ์ เป็นเรือนไม้ขนาดกลาง ใต้ถุนสูง หลังคาทรงสูง เดิมตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ บ้านเลขที่ 130 ในหมู่ 5 อยู่ที่ตำบลเมืองลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 20 กิโลเมตร บ้านนี้มีอายุ 73 ปี สร้างด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็ง มีเสาใหญ่ 42 เสา ไม่รวมเสารับชานระเบียงอีก 11 เสา หลังคาแฝดมีชานกว้าง ถัดไปเป็นระเบียงโถงอเนกประสงค์ ชั้นในมีห้องนอน 2 ห้อง และมีเรือนครัวอยู่ด้านหลัง ตัวบ้านทั้งหมดค่อนข้างเรียบง่าย ไม่มีลวดลายประดับมาก แต่บ้านมีสัดส่วนทรวดทรงงดงามสมควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นแบบอย่าง ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศเหนือ เมื่อขึ้นบันไดไปจะพบชานไม้กว้าง ด้านตะวันตกของชานมีร้านน้ำสำหรับตั้งหม้อน้ำ ด้านซ้ายเป็นเติ๋นอเนกประสงค์ ยกระดับสูงจากชานประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้เป็นที่นั่งเล่นและรับแขกตอนกลางวันหรือใช้เป็นที่นอนสำหรับบุตรชายที่ยังเป็นโสด แขกมักจะพักที่เติ๋นอเนกประสงค์นี้ ส่วนด้านตะวันออกของเติ๋นมีหิ้งพระ

          ต่อจากเติ๋นด้านตะวันออกเป็นห้องนอนโล่งกว้าง ใช้นอนทั้งครอบครัว ใช้มุ้งหรือม่านกั้นแบ่งสัดส่วน ด้านตะวันตกของเรือนเป็นครัวอยู่เสมอระดับกับเรือนนอน ตรงกลางที่เรือนทั้งสองเชื่อมต่อกันเป็นรางน้ำฝน นอกครัวด้านตะวันตกเป็นระเบียงเชื่อมจากชานหน้าบ้านกับหลังบ้าน

           เนื่องจากเรือนไม้โบราณถูกทำลายไปมากทำให้เรือนไม้หลังนี้มีคุณค่าขึ้น มีผู้ต้องการซื้อมากมายแต่เจ้าของไม่อยากขาย ครั้นนานวันเข้าสภาพเรือนทรุดโทรมลง พื้นทรุด กระเบื้องมุงหลังคาเปราะแตกเสียหาย แต่ยังมีผู้เห็นว่าเรือนหลังนี้มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ล้านนา เพื่อให้คนทั่วไปมีโอกาสชื่นชมและศึกษาประวัติของเรือน พ.ศ. 2534 นายศิริชัย นฤมิตรเรขการ ได้ซื้อเรือนนี้ไว้ และมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อเป็นจุดเริ่มในการอนุรักษ์เรือนโบราณโดยรื้อเรือนหลังนี้ย้ายมาปลูกสร้างบริเวณสถาบันวิจัยสังคมหลังเดิมซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ นอกเขตรั้วใหญ่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณด้านใต้ตรงกันข้ามตลาดต้นพยอมและด้านตะวันตกติดถนนเลียบคลองชลประทาน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดตั้งศูนย์ชาติพันธุ์วิทยา มูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ ได้มอบเงินทุนสนับสนุนการซื้อ รื้อ ย้าย ปลูก สร้าง และ ดำเนินการเกี่ยวกับเรือนหลังนี้เป็นเงิน 928,000 บาท แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มต้นดำเนินการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 สร้างเสร็จเมือเดือนกรกฎาคม 2536 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2537

 พิธีมอบเรือนไทยลื้อให้ ม.เชียงใหม่   พิธีมอบเรือนไทยลื้อให้ ม.เชียงใหม่   ภาพเรือนไทยลื้อ


 


 




กลับไปหน้าวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ